จากกระแสข่าวกรณีองค์การอนามัยโลกออกมาเปิดเผยว่า…มีแนวคิดที่จะ “ใช้เลือดผู้รอดชีวิตจากการป่วยเพราะเชื้อไวรัสอีโบลา” มาสกัด “หาสารสร้างภูมิต้านทาน” เพื่อกระตุ้นการ “สร้างระบบภูมิคุ้มกัน” ในร่างกายให้กับผู้ที่กำลังป่วยด้วยเชื้ออีโบลานั้น สร้างความสนใจอย่างมากให้กับผู้คนทั่วโลก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ “เชื้อร้ายอีโบลา” นี้ในหลายประเทศแถบตะวันตกของทวีปแอฟริกา ที่ลุกลามรุนแรง จนมีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากวิธี “สกัดเลือด” เพื่อหาสารสร้างภูมิต้านทานแล้ว ก็ยังมีกระแสข่าวกรณีใช้วิธี “ถ่ายเลือด-รับเลือด ระหว่างผู้หายป่วย…สู่ผู้ที่กำลังป่วย” อีกด้วย โดยมีข่าวว่ามีการดำเนินการนำเลือดของแพทย์รายหนึ่งที่รอดชีวิตจากการป่วย ด้วยเชื้ออีโบลาถ่ายให้กับแพทย์อีกรายหนึ่งที่ป่วยด้วยเชื้อร้ายชนิด นี้…ซึ่งก็เป็นอีกกรณีเกี่ยวกับการ ’ใช้เลือดสู้โรค“ ที่โลกต้องจับตา
แนวคิด ’ใช้เลือดรักษาโรค“ นี้ดูจะล้ำ ๆ
คล้ายใน ’หนัง-นิยายแนววิทยาศาสตร์“
แล้วในความเป็นจริงล่ะ…เป็นเช่นไร???
ทั้งนี้ แม้ว่าแนวคิด “สกัดเลือด” หรือวิธี “ถ่ายเลือด” เพื่อที่จะ “สร้างภูมิคุ้มกันเชื้ออีโบลา” นี้จะยังเป็นแนวคิด-วิธีที่ต้องตามดูกันต่อไป…แต่จากสถานการณ์การแพร่ ระบาดรุนแรงของเชื้อไวรัสอีโบลา ที่ก็ไม่แน่ว่าอาจจะทำให้โลกทั้งใบต้องเผชิญกับช่วงเวลาวิกฤติที่เลวร้ายที่ สุดอีกครั้ง?? และที่สำคัญ ณ เวลานี้ยังไม่มียาตัวใดผ่านการรับรองชัดเจนว่าสามารถใช้รักษาหรือป้องกัน “เชื้อไวรัสอีโบลา” ได้ ขณะที่ “ซีแมปป์” ก็เป็นเพียง “วัคซีนที่อยู่ในขั้นทดลอง” เท่านั้น กว่าจะพัฒนาจนใช้งานได้จริง ๆ ถึงเวลานั้นสถานการณ์ก็อาจจะสายเกินไป?? กระแสข่าว “ใช้เลือดสู้โรค” จึงถือเป็นกระแสข่าวที่ได้รับความสนใจระดับโลก…
กับการ “เพิ่มทางเลือกให้ผู้ติดเชื้ออีโบลา”
ขยายความแนวคิดดังกล่าวนี้…ในส่วนของการ “สกัดเลือด”นั้น หลักใหญ่ใจความคือ การนำเลือดของผู้ที่สามารถรอดชีวิตจากการติดเชื้ออีโบลา ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก มาผ่านกระบวนการเพื่อ “สกัดสารสร้างภูมิต้านทาน” หรือ “แอนติบอดี (Anti-Body)” แล้วนำสารที่สกัดได้ “ฉีดให้กับผู้ป่วย” เพื่อที่จะ “กระตุ้นการสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย” ทั้งนี้ แนวคิดดังกล่าวขององค์การอนามัยโลกนั้น มีการอ้าง อิงจากผลงานวิจัยเมื่อปี 2538 ซึ่งมีการระบุว่า…ผู้ป่วยจากการติดเชื้อไวรัสอีโบลา 7 จาก 8 คน ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (ดีอาร์คองโก) สามารถหายป่วย…หลังจากได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้
แนวคิด “ใช้เลือดรักษา” กำลังเป็นที่สนใจ
ยิ่ง “องค์การอนามัยโลกระบุ” ยิ่งน่าสนใจ
แนวคิดสกัดเลือดผู้รอดชีวิตจากเชื้อโรคเพื่อหาสารสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อนำมา ใช้รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อโรคชนิดนั้น แนวคิดนี้ เรื่องนี้ มีปรากฏให้ชาวโลกได้รับรู้แพร่หลายผ่านทาง “นวนิยายแนววิทยาศาสตร์” และ “ภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์” ประเภท “ไซ-ไฟ (Sci-Fi)” มานานแล้ว ซึ่งแม้จะดูล้ำ ๆ หรือดูเหลือเชื่อ เหนือจินตนาการ และบางคนอาจจะคิดว่า…ไม่น่าจะเป็นไปได้!! จริง ๆ แล้วกรณีนี้ล้วนถูกผูกขึ้นจาก “แนวคิดทางวิทยาศาสตร์” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ “มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง”
กับเรื่องนี้ นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ดีเด่น ปี 2538 และนักเขียน-นักบรรยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง อย่าง รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล ระบุกับทาง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ว่า…ในอดีต มนุษย์ก็เคยคิดค้น “ยารักษาโรค” ได้จากวิธีนี้เช่นกัน ซึ่งกรณีการผลิต ’วัคซีน-เซรุ่ม“ นั้น ก็ล้วนเกิดขึ้นจากแนวคิดดังกล่าวนี้ โดยเกิดจากการที่มนุษย์ หรือนักวิทยาศาสตร์ สังเกตพบว่า…ในยามที่เกิดโรคระบาด หรือเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ทั้งในคนหรือสัตว์ มักพบว่า…ขณะที่คนหรือสัตว์จำนวนมากล้มป่วยล้มตายจากการติดเชื้อ จะมีกลุ่มคนหรือสัตว์บางส่วน ที่ “รอดชีวิต” หรือ “ไม่เกิดอาการ” ใด ๆ เลย นั่นจึงเป็นที่มาของแนวคิดดังกล่าวนี้
ที่ “เกิดจากความช่างสังเกต” ของมนุษย์ ของนักวิทยาศาสตร์ จน “นำสู่การค้นหา” นำสู่การสกัดสารสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อจะนำมาใช้กระตุ้นให้ร่างกาย “สร้างระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะ” ในการรักษาโรค-กำจัดเชื้อโรค
“เรื่องนี้ ไม่ได้มีอยู่แต่ในหนังหรือนวนิยายแนววิทยาศาสตร์ และไม่ได้เป็นเรื่องเพ้อฝันเกินจริง เพราะนวนิยายวิทยาศาสตร์ และหนังแนวไซ-ไฟเหล่านั้น ก็ล้วนผูกขึ้นจากเค้าโครงความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น เพียงแต่วิธีการในหนัง กับวิธีการในโลกของความเป็นจริง อาจจะแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดนี้ก็มีพื้นฐานจากแนวคิดเดียว กัน ซึ่งกรณีการใช้เลือดของผู้รอดนี้ก็เช่นกัน”…นี่เป็นการระบุถึง “ความเป็นไปได้” กับกรณีที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ
กรณี…’เลือดผู้รอด…รักษาโรคร้าย“
ทั้งนี้ แม้แนวคิดใช้ “เลือดผู้รอด” กำจัดเชื้อไวรัสร้ายอย่าง ’อีโบลา“ นี้ ทาง รศ.ดร.ชัยวัฒน์ จะมองว่า…อาจยังไม่ได้ผลแพร่หลายในขณะนี้ เนื่องจากเชื้อไวรัสดังกล่าวมีความรุนแรงและมีความลึกลับมาก เช่นเดียวกับ “เชื้อไวรัสเอชไอวี” หรือ “โรคเอดส์” ที่ปัจจุบันก็ยังไม่มียาที่สามารถรักษาได้ ซึ่งกระบวนการจากแนวคิดนี้อาจจะจำเป็นต้องใช้เวลา หรือมีการศึกษาเพิ่มเติมให้มากขึ้น แต่กระนั้น รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ก็ระบุว่า… กรณีนี้ก็ “ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่มีความเป็นไปได้” ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้!!
’ไวรัสอีโบลา“ รุนแรง-ร้ายแรงเขย่าโลก
จะ ’ใช้เลือดรักษาโรค“ เหมือนในหนัง
น่าติดตามการ ’เป็นจริง?-ทำได้จริง?“.