เรื่อง ’เด็กและเยาวชน“ กับสังคมไทยปัจจุบัน ยังคงมีปัญหาในหลาย ๆ ด้าน “มีทั้งปัญหาเก่าซ้ำซ้อนและปัญหาใหม่” สะท้อนว่า…ปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนนี้นับวันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น จำเป็นต้องให้ความสนใจ และต้องจริงใจจริงจังในการแก้ปัญหา ทั้งนี้ ในมุมหนึ่งก็มีข้อมูลที่น่าคิด
เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนใน ’สถานพินิจและศูนย์ฝึกอบรม“ ซึ่งพบว่า…มีจำนวนไม่น้อยเลยที่เมื่อพ้นรั้วสถานพินิจฯออกมาแล้วได้ก่อ เหตุ ’กระทำผิดซ้ำอีก“…นี่ก็ชวนให้สังคมตั้งคำถาม-เกิดคำถามในเรื่องนี้??
ปัญหา “ก่อเหตุซ้ำ” เป็นปัญหาซ้ำซ้อน
ปัจจัยมีทั้งจากตัวเด็ก และ “ปัจจัยอื่น”
’ขาดแคลนเจ้าหน้าที่“ ปัจจัยนี้ก็น่าคิด…
’เราพบว่า…มีเด็กจำนวนไม่น้อยกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก หลังพ้นออกจากสถานพินิจและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน จนเกิดคำถามว่า…ทำไม?“…เป็นสถานการณ์ที่ ชลลดา พรหมเดชไพบูลย์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิชลลดา สะท้อนผ่านทาง “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” กับปัญหาที่เกิดขึ้นในกรณีการกระทำผิดซ้ำของเด็กและเยาวชนหลังพ้นออกจากสถาน พินิจและศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ตามกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้ ทางมูลนิธินี้ได้ติดตามปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และพบว่า… สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้อาจมาจาก ’ปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่“ ในสถานพินิจและศูนย์ฝึกฯ โดยเกือบทุกแห่ง มีเจ้าหน้าที่น้อยกว่าหรือมีเจ้าหน้าที่ในจำนวนที่ไม่เหมาะสมกับจำนวนเด็ก ทำให้การดูแล การให้ความช่วยเหลือ ตาม “กระบวนการบำบัดฟื้นฟู” นั้น…ทำได้ไม่ทั่วถึง หรืออาจทำได้ไม่เต็มที่ตามกระบวนการทั้งหมด
จนกลายเป็น “ปัญหาเด็กซ้ำซ้อน” กรณีนี้
กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “วังวนปัญหาเด็ก”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางประธานกรรมการมูลนิธิชลลดา แจกแจงว่า…เมื่อมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เด็กและเยาวชนเข้าสู่กระบวนการ ทางยุติธรรม เมื่อเด็กเข้าสู่สถานพินิจและศูนย์ฝึกฯ ก็จะเริ่มต้นที่ “กระบวนการแรกรับตัว” ก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อจำแนกเด็กเข้าสู่ “แผนฝึกอบรม” ตามลำดับ ซึ่งกรณียาเสพติดก็จะมีการประเมินสุขภาพและประเมินปัญหาการใช้ยาเสพติดโดย “พยาบาลวิชาชีพ” จากนั้นจะต้องเข้ารับการประเมินทางจิตวิทยาจาก “นักจิตวิทยา” ก่อนเข้าสู่การประเมินทางสังคมสงเคราะห์จาก “คณะกรรมการสหวิชาชีพ” เพื่อรับทราบความต้องการของเด็ก จากนั้นเด็กและเยาวชนก็จะเข้าสู่ “กระบวนการฝึกอบรม” โดยมี “ครูที่ปรึกษา” ติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
นอกจากเจ้าหน้าที่ข้างต้นแล้ว ก็ยังต้องมี “บุคลากร” ในด้านต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญในกระบวนการบำบัดฟื้นฟูอีกหลาย ๆ ส่วน อาทิ พ่อบ้าน งานอภิบาลและการพินิจ, ครูสามัญ, ครูพลศึกษา, ครูวิชาชีพ, พนักงานพินิจหรือพนักงานพิทักษ์, ช่างตัดผม, บรรณารักษ์ หรือกระทั่งคนครัวที่ประกอบอาหารให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งข้อมูลที่น่าคิดคือ…ตามสถานพินิจและศูนย์ฝึกฯ เกือบทุกแห่งที่เปิดดำเนินการนั้น ล้วนประสบปัญหา “ขาดแคลนเจ้าหน้าที่” หรืออาจจะมี แต่ก็ “ยังไม่เพียงพอ”…เมื่อเทียบกับสัดส่วนเด็กที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น
จาก “สัดส่วนอัตรากำลังข้าราชการและเจ้าหน้าที่” ซึ่งไม่สอดคล้องกับ “จำนวนเด็กและเยาวชน” ที่เข้าสู่สถานพินิจและศูนย์ฝึกฯ อาจทำให้ “กระบวนการบำบัดฟื้นฟู” ทำได้ไม่เต็มที่ ซึ่งในขณะที่สถานการณ์ทางสังคมเปลี่ยนแปลงไปมาก โดยมีเด็กและเยาวชนถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจฯเพิ่มขึ้น ทว่าอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานด้านนี้กลับไม่ได้รับการจัดสรรเพิ่มเติม มาตั้งแต่ ปี 2546 หรือนานกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรับบทหนักจากกรณี “เด็กล้น” จนเด็กไม่ได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่!!
’ยกตัวอย่างเช่น ครูวิชาชีพพื้นฐาน ที่ต้องมีอย่างน้อยสาขาละ 2 คน รวมเป็น 8 คนนั้น พบว่า…ยังมีไม่ครบและยังขาดแคลนอยู่อีกมากจนดูแลเด็กได้ไม่ทั่วถึง ซึ่งต้องยอมรับว่า…เจ้าหน้าที่ที่ทำงานอยู่นั้น ต้องทุ่มเทและเสียสละอย่างมาก และต้องมีใจรักที่จะทำงานนี้อย่างสูงจึงจะอยู่ได้ เพราะเป็นงานที่เหนื่อยยาก ซึ่งพอเกิดปัญหาขาดแคลนเด็กไม่ได้รับการดูแลทั่วถึง บางคนไม่ได้ฝึกวิชาชีพพอออกไปก็ไม่รู้จะไปทำงานอะไร สุดท้ายก็กลับไปสู่วังวนเก่า ๆ กลายเป็นปัญหาซับซ้อนขึ้น“ …เป็น “กรณีน่าคิด” ที่แหล่งข่าวรายนี้สะท้อนไว้ ที่สังคมไทยอาจจะยังไม่เคยทราบ
ทั้งนี้ ทางประธานกรรมการมูลนิธิชลลดา กล่าวไว้อีกว่า…“เราพบว่า…สถานพินิจและศูนย์ฝึกฯ เกือบทุกแห่งขาดกำลังเจ้าหน้าที่อยู่มาก ทางมูลนิธิฯจึงจัดทำข้อเสนอไปยัง คสช. เพื่อขอให้เพิ่มอัตรากำลังข้าราชการหรือลูกจ้างให้แก่หน่วยงานเหล่านี้ ให้มีปริมาณที่เหมาะสม หรืออย่างน้อยก็จัดอัตรากำลังส่วนที่ขาดให้ครบทั้ง 18 ศูนย์ฝึกฯ ทั่วประเทศ รวม 504 อัตรา และควรจัดอัตรากำลังข้าราชการสำหรับสถานพินิจฯ 25 แห่งที่เปิดทำการแล้วแต่ไม่ได้รับการจัดสรรโดยเร่งด่วน จำนวน 306 อัตรา เพื่อให้กระบวนการมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยทำให้ปัญหานี้รวมถึงปัญหาสังคมอื่น ๆ ลดลง” …ก็เป็น ’ข้อเสนอแนะ“ ที่น่าสนใจ ที่แหล่งข่าวรายนี้สะท้อนไว้เกี่ยวกับการ ’แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนกระทำผิด“
เรื่องเกี่ยวกับ “เด็กและเยาวชน” มิใช่เรื่องเล็ก
เพราะก็เป็นเรื่อง “เกี่ยวกับอนาคตของชาติ”
ปัญหา ’กระทำผิดซ้ำ“ ก็ ’ต้องปฏิรูปด่วน!!“.