“…ได้มีการตรวจติดตามผู้ที่ได้รับใบอนุญาต มอก. รวม 3,233 ครั้ง จำนวน 3,009 ราย ตรวจสอบควบคุมสถานที่จำหน่าย รวม 628 ครั้ง จำนวน 685 ราย และได้อายัดผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานไว้ 86 ราย 74 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งพบว่าเป็นสถิติที่สูงกว่าปี 2556 ทั้งปี ที่มียอดการอายัด 49 ราย 34 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้มีการเข้มงวดเรื่องการตรวจจับผู้กระทำความผิดมากยิ่งขึ้น และให้ความรู้กับผู้จำหน่าย รวมถึงประชาชนผู้บริโภค มากยิ่งขึ้น…”…นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุของ อุฤทธิ์ ศรีหนองโคตร เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. เกี่ยวกับเรื่อง “ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม”
เรื่องนี้ต้องมีการ “คุมเข้มมาตรฐาน!!”
และได้มีการคุมเข้มยิ่งขึ้นทั่วประเทศ
ทั้ง นี้ การผลิต การจำหน่าย การใช้งานสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มากมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน หากเป็นสินค้าที่ ’ไม่ได้มาตรฐาน“ ก็สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะ ’เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน“ยกตัวอย่างเช่น…วัสดุก่อ สร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างจนเกิดความสูญเสียร้ายแรง ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้-อาจทำให้เกิดไฟไหม้ ฯลฯ ซึ่งในประเทศไทยนั้น มีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมดูแลเรื่องนี้
กับ การดูแลเรื่องนี้ หลักสำคัญคือเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ผ่านกระบวนการกำหนดมาตรฐาน กระบวนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน และกระบวนการตรวจติดตามคุณภาพของสินค้าหลังการได้รับใบอนุญาต เพื่อให้มีการจำหน่ายสินค้าที่เป็นไปตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 โดยการตรวจร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับนั้นก็ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอน สำคัญของกระบวนการ
ต้องมีการดำเนินการทั้งในส่วนของโรงงานผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ และสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับประชาชน ทั้งด้าน ’ความปลอดภัย“ และการ ’รักษาคุณภาพมาตรฐาน“
ดังนั้น การที่ทาง สมอ.มีการเข้มงวดเรื่องนี้ ก็ย่อมเป็นสิ่งสมควร ซึ่งล่าสุดหน่วยงานนี้ได้มีการเร่งสร้างเครือข่ายในการตรวจร้านจำหน่าย ผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ โดยร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการการตรวจผลิตภัณฑ์ ตามโครงการ “ประชาชนมั่นใจ สินค้าทั่วไทยมี มอก.” ให้ความรู้ด้านกฎหมาย และฝึกปฏิบัติการตรวจร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ แก่เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศกว่า 200 คน
การดำเนินการเริ่มที่ภาคกลาง ที่กรุงเทพฯ และไปตามภาคต่าง ๆ ภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขอนแก่น ภาคตะวันออก ที่ชลบุรี ภาคใต้ ที่สุราษฎร์ธานี โดยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการนี้เป็นการ ’เพิ่มขีดความสามารถเจ้าหน้าที่“ ซึ่งถือเป็นมาตรการสำคัญในการ ’คุ้มครองประชาชนผู้บริโภค“
ทั้งนี้ ทางเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ก็ได้มีการระบุไว้ว่า…การสร้างเครือข่ายในการตรวจร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ มาตรฐานบังคับที่มีอยู่ทั่วประเทศ การพัฒนาเจ้าหน้าที่ในด้านขีดความสามารถ ความรู้ความเข้าใจในสินค้าผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับ และความแม่นยำด้านข้อกฎหมาย เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วทั่วประเทศ ทำให้มีความพร้อมในการออกปฏิบัติการ ตรวจร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์มาตรฐานบังคับอย่างเข้มข้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยต่อสาธารณะ อาทิ…กลุ่มผลิตภัณฑ์เหล็ก กลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และกลุ่มผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ท่อน้ำดื่ม ของเล่น หมวกนิรภัย ผงซักฟอก ไฟแช็กแก๊ส เป็นต้น
กับเรื่องนี้ ก็สอดรับกับการที่ ’ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน“ หรือ ’เออีซี“ จะเกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของสินค้าผ่านพรมแดนของประเทศสมาชิก ที่รวมถึงประเทศไทย ได้อย่างเสรีมากยิ่งขึ้น โดยที่ไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ขณะที่ไทยเองก็มีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางและเป็นแหล่งผลิตสินค้า อุตสาหกรรมหลากหลายประเภท โดยกรณีนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศไทย สามารถแข่งขันและครองตลาดอาเซียน ได้ ซึ่งเลขาฯ สมอ. ก็ระบุไว้ว่า…
“การ ควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้า สู่เออีซี ที่ประเทศไทยก็ต้องการที่จะเป็นแหล่งผลิตเดียวหรือเป็นผู้จำหน่ายเดียวใน 10 ประเทศ ดังนั้น จึงต้องมีการ ควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้เกิดการยอมรับ และเป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดอาเซียน โดยจะเน้นที่การ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีจิตสำนึก ที่จะผลิตสินค้าให้มีมาตรฐาน ควบคู่ไปกับการ ส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจ เรื่องการใช้สินค้าที่มีมาตรฐานด้วย”
เรื่องนี้ก็ยึดโยงกรณี ’คืนความสุข“ ให้คนไทย
และยังโยงถึงการ ’ตั้งรับยุคเออีซี“ ของไทย
โดยมี ’ผลิตภัณฑ์มาตรฐาน“ เป็นกุญแจ!!!.